ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ โดยมีสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่ เป็นบ่อเกิดของปัญหา แต่เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานรถในทุก ๆ ท่านมักจะมองข้ามไป นั้นก็คือ การดูแลบำรุงรักษา การเช็คระยะ ตามที่ได้มีการกำหนด และการใช้งานรถ หรืออุปกรณ์ นั้น ๆ อย่างถูกต้อง ถูกวิธี
ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้มีการรวบรวมปัญหาและสาเหตุ ของความน่าจะเป็นต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหา แบริ่งหรือชาร์ปละลาย ว่ามีความน่าจะเป็นจากสาเหตุใดได้บ้าง แต่ในข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนได้มีการรวบรวมไว้ ปัญหาในเรื่องของการหล่อลื่นถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญมากที่สุด เพราะเมื่อการหล่อลื่นที่ไม่เหมาะสม จนเกิดเป็นปัญหาการขัดสีกัน ระหว่างเพลาข้อเหวี่ยงกับแบริ่งหรือชาร์ป รวมกับสาเหตุการระบายความร้อนที่ไม่เหมาะสม จนเป็นต้นเหตุของปัญหาทุก ๆ อย่าง โดยผู้เขียน ได้มีการรวบรวมรายละเอียดของข้อมูลไว้ ดังนี้
1. รู้หรือไม่ แบริ่งหรือ(ชาร์ป) และพื้นที่บริเวณหน้าสัมผัสของเพลาข้อเหวี่ยง ไม่ได้มีการสัมผัสกันโดยตรง
ปกติเพลาข้อเหวี่ยง และแบริ่งหรือ(ชาร์ป) จะมีระยะห่างหรือช่องว่างระหว่างกัน เพื่อที่จะใช้เป็นพื้นที่ ๆ จะให้นํ้ามันหล่อลื่นสามารถที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในการหล่อลื่น และระบายความร้อน โดยในปัญหาส่วนใหญ่ที่มักจะเกิดขึ้นกับ แบริ่งหรือ(ชาร์ป)มักจะเกิดจากการที่นํ้ามันหล่อลื่นไม่สามารถเข้าไปหรือหล่อลื่นหรือระบายความร้อนในส่วนนั้นได้ โดยไม่ว่าจะด้วยเพราะสาเหตุใดก็ตาม และเมื่อมีการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างเพลาข้อเหวี่ยงพร้อมประกับแบริ่งก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นความร้อน และเมื่อมีความร้อนเพิ่มขึ้นสูง จนถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็จะทำให้วัสดุตรงจุดที่เป็นเหล็ก เกิดการอ่อนตัวและง่ายต่อการเกิด เป็นปัญหาการละลายตามมา จนเป็นที่มาของภาษาช่าง ที่นิยมเรียกปรากฏการที่เกิดขึ้นกับจุด ๆ นี้ว่า แบริ่งหรือชาร์ปละลายนั่นเอง
2. ขั้นตอนในการประกอบชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ จะต้องมีระยะclearanceที่ถูกต้อง น้ำหนักแรงขันที่ถูกต้องการเลือกอุปกรณ์ ชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น แบริ่ง หรือขนาดท่อลำเลียงน้ำมันหล่อลื่นที่ถูกต้อง
การใช้งานของเครื่องยนต์โดยปกติจะมีการนับอายุการทำงาน ซึ่งหากเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับใส่กับยานยนต์ที่เป็นรถยนต์จะมีการนับการทำงานเป็นระยะทาง หน่วยเป็น กิโลเมตร ถ้าเป็นเป็นเครื่องยนต์สำหรับใส่กับเรือ จะมีการวัดการทำงานเป็นระยะทางไม่ได้ จึงนิยมนับการทำงานเป็น ชั่วโมงการทำงานของเรือ และเมื่อเครื่องยนต์มีการทำงานหรืออายุการใช้ทำงาน ที่ถึงระยะเวลาที่ต้องมีการบำรุงรักษา เช่น การเปลี่ยนถ่ายสารหล่อลื่น การเปลี่ยนชุดอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพลง เช่น กรองน้ำมันเครื่อง กรองอากาศ กรองแอร์ กรองเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งการบำรุงรักษาที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงแค่การบำรุงรักษาในเบื้องต้น หรือการบำรุงรักษาตามระยะทางที่กำหนดเท่านั้น
แต่ถ้าเครื่องยนต์มีการใช้งานมามาก จนถึงระยะที่ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาตามรอบ แบบชุดใหญ่ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการ ถอด-รื้อ เครื่องยนต์ออกมา เพื่อทำการเปลี่ยนแปลง ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ภายในต่าง ๆ เช่น การคว้าน – การตีปลอกกระบอกสูบ เปลี่ยนลูกสูบ เปลี่ยนแบริ่งต่าง ๆ เปลี่ยนปะเก็นต่าง ๆ เป็นต้น
แต่หากมีการ ถอด-รื้อ อุปกรณ์เหล่านั้น ออกมาเพื่อการซ่อมบำรุงใหญ่ ก็จำเป็นที่จะต้อง มีการทำโดยช่างผู้ชำนาญการ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทำตามคู่มือหรือตามมาตรฐานที่เครื่องยนต์รุ่นนั้น ๆ กำหนดไว้ ตั้งแต่แรงขันที่เหมาะสม การเลือกเบอร์ของอะไหล่ที่เหมาะสม เช่น เบอร์ของแบริ่ง ที่ช่างหลายท่านมักจะบอกกันว่า เลือกตามสี เลือกตามรหัสที่เพลาข้อเหวี่ยงระบุไว้ เป็นต้น เพราะนั้นหมายความว่า หากในการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในเครื่องยนต์ มีการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ผิดเบอร์ ใช้แรงขันน็อตที่ไม่หมาะสม เช่น แน่นมากเกินไป หลวมมากเกินไป อาจจะส่งผลต่อการทำงานที่ผิดปกติต่อเครื่องยนต์ได้ เช่น เกิดเป็นปัญหาแบริ่งหรือชาร์ปละลาย เป็นต้น
เพราะภายในเครื่องยนต์จะมีรายละเอียดของช่องว่างของclearanceต่าง ๆ ที่ละเอียดมาก ๆ เช่น ระยะช่องว่างนํ้ามันหล่อลื่นของแบริ่ง และท่อที่ใช้สำหรับลำเลียงนํ้ามันหล่อลื่นในระบบ โดยถ้ายิ่งท่อสำหรับที่ใช้ลำเลียงนํ้ามันหล่อลื่นมีขนาดที่ใหญ่ ก็จะยิ่งทำให้นํ้ามันหล่อลื่นไหลผ่านแบริ่งได้สะดวก โดยระยะช่องว่างที่เหมาะสมจะมีเปลี่ยนแปลงไป ตามขนาดของเครื่องยนต์ในแต่ละประเภท
แต่ขนาดที่มักพบบ่อย ๆ คือ ประมาณ 0.04 mm (0.0015 นิ้ว) และเมื่อแบริ่งมีการสึกหรอ ระยะของช่องว่างในการใช้ ลำเลียงนํ้ามันหล่อลื่นก็จะมขนาดที่โตมากขึ้น ปริมาณการไหลของนํ้ามันหล่อลื่นผ่านแบริ่ง และถูกเหวี่ยงออกก็จะเพิ่มได้มากขึ้น เช่น ถ้าระยะช่องว่างเป็น 0.08 mm (0.003 นิ้ว) ปริมาณการไหลของนํ้ามันหล่อลื่น ก็จะเพิ่มเป็น 5 เท่า และถ้าระยะช่องว่างเป็น 0.15 mm (0.006 นิ้ว) ปริมาณการไหลของนํ้ามันหล่อลื่นก็จะเพิ่มเป็น 25 เท่า เป็นต้น
และนี่ยังไม่รวมถึงเครื่องยนต์ที่มีการดัดแปลงต่าง ๆ เช่น การเพิ่มขนาดความจุของกระบอกสูบ การใส่อุปกรณ์ตกแต่ง เพื่อประโยชน์ในด้านของการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์รถให้สูงขึ้น โดยหากในการประกอบเครื่องในแต่ละครั้ง ลืมคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานี้ในข้างต้น ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ความสามารถในการลำเลียงนํ้ามันหล่อลื่น เกิดความไม่สมดุล และเกิดเป็นความผิดพลาดของระบบได้ และอีกหนึ่งสาเหตุของทุกปัญหา
ในการทำงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานประกอบประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าช่างจะมีความชำนาญมากในระดับไหนก็ตาม แต่คำว่า Human error ก็มักจะเกิดขึ้นกับ ตัวบุคคลหรือช่างได้เสมอ ซึ่งอาจจะเป็นที่มา ของปัญหาในจุดเล็ก ๆ ที่หลาย ๆ คนอาจจะมองข้าม เพราะเชื่อในประสบการณ์การทำงานของตนเอง จนลืมมองถึงความถูกต้อง ความเหมาะสม และความน่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการเกิดขึ้น ของปัญหาในการทำงานลักษณะนี้ จนสุดท้ายทำให้เกิดเป็นปัญหาในระบบต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาแบริ่งหรือชาร์ปละลาย เป็นต้น
3. มีการดัดแปลงอุปกรณ์ เลือกใช้อุปกรณ์ที่ผิดไปจากมาตรฐาน หรือมีการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ตามที่รถยนต์รุ่น นั้น ๆ กำหนด
ในปัจจุบัน ชิ้นส่วนของรถยนต์ในรุ่นและยี่ห้อต่าง ๆ มักจะมีการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนออกมา เลียนแบบเพื่อที่จะชู จุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่นทำให้อุปกรณ์มีน้ำหนักเบามากขึ้นกว่าเดิม มีขนาดที่พิเศษมากกว่าขนาดปกติตามมาตรฐาน มีความสวยงามที่มากกว่า หรือแม้แต่การเพื่อประสิทธิภาพในการสร้างขุมพลังให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือมากขึ้นกว่าอุปกรณ์เดิมที่ติดมากับรถยนต์ แต่ในข้อดี ย่อมมีมาพร้อมกับปัญหา เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ถ้าเป็นชิ้นส่วนที่ผลิตออกมาตามมาตรฐาน หรือมีการรับรอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีไป แต่โดยส่วนมากอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น มักที่จะไม่ได้การรับรองมาตรฐานใด ๆ จากผู้ผลิต เช่น พูลเลย์ดัดแปลง ซึ่งโดยปกติแล้วอุปกรณ์ที่เป็นพูลเลย์จะเป็นตัวที่รับกำลังมาจากเครื่องยนต์โดยตรง และมีการส่งกำลังงานไปตามจุดต่าง ๆ โดยผ่านอุปกรณ์ส่งกำลัง เช่น สายพานที่บริเวณด้านหน้าของเครื่องยนต์ แต่ถ้าพูลเลย์ดัดแปลงชิ้นนั้น ไม่มีการปรับแต่งในเรื่องของน้ำหนักให้มีการสมดุล หรือปรับแต่งจุดศูนย์ถ่วงให้เหมาะสม (รวมเรียกว่าบาลานซ์) ก็จะทำให้การทำงานของ พูลเลย์ไปกระทบต่อการทำงานของเพลาข้อเหวี่ยง ที่มีการเชื่อมโยงไปถึงก้านสูบ ประกับก้านสูบ แบริ่งก้านสูบ แบริ่งเพลาข้อเหวี่ยง เป็นต้น จนอาจจะทำให้ภายในระบบของเครื่องยนต์เกิดการขัดสีที่ผิดจังหวะ และเกิดเป็นความร้อนสะสม จนเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่อาจจะทำให้เกิดการขัดสีจนเป็นที่มาของปัญหา แบริ่งหรือชาร์ปละลายได้ เช่นกัน
4. เลือกใช้น้ำมันเครื่องไม่มีคุณภาพ หรือน้ำมันเครื่อง (ปลอม)
เป็นสาเหตุ ต้น ๆ ที่ผู้ใช้งานรถ ทุก ๆ ท่านอาจจะคิดได้ก่อนเป็นอันดับแรก หากเกิดปัญหาใด ๆ กับเครื่องยนต์ ว่าอาจจะมีผลมาจากระบบหล่อลื่น หรือน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์นั่นเอง โดยน้ำมันเครื่องโดยทั่วไปจะมีคุณสมบัติที่ใช้ สำหรับการหล่อลื่น ระบายความร้อน ป้องกันการขัดสี และป้องกันการสึกหรอ จากการขัดสี แต่ถ้าน้ำมันเครื่องที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมานี้ หรือไม่สามารถทำหน้าที่ของน้ำมันเครื่องได้อย่าง สมบูรณ์แบบน้ำมันเครื่องเหล่านั้นจะเข้าข่ายทันทีว่า เป็น น้ำมันเครื่องปลอม ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีข่าวการจับกุม ผู้ลักลอบผู้ผลิตน้ำมันเครื่องปลอมได้อย่างต่อเนื่อง และน้ำมันเครื่องปลอมมันคืออะไร และจะมีผลเสียอะไรที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องยนต์หากเรามีการนำน้ำมันเครื่องปลอมเหล่านี้ไปใช้
น้ำมันเครื่องปลอม โดยส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมันเครื่องเก่า ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว หรือน้ำมันในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เสื่อมคุณสภาพแล้ว มาผ่านกระบวนการ ทำให้สภาพของน้ำมันกลายสภาพเหมือนน้ำมันใหม่ ด้วยการคัดแยกเศษตะกอนและสิ่งสกปรกที่ปนอยู่ในน้ำมัน เหล่านั้นออก ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น ผ่านการแยกตะกอน ด้วยเครื่องแยกตะกอนประเภท เครื่องหมุนเหวี่ยงที่มีแรงเหวี่ยง เซนทริฟิวส์ เป็นต้น ทำให้น้ำมันมีลักษณะใสเหมือนใหม่ แต่น้ำมันที่มีลักษณะเหมือนใหม่นี้ จะไม่มีคุณสมบัติในการหล่อลื่นหรือปกป้องเหลืออยู่เลย เพราะมันคือน้ำมันเครื่องเก่าที่เสื่อมสภาพแล้วนั่นเอง แล้วพอมีการนำน้ำมันเครื่องประเภทนี้ ไปใช้กับเครื่องยนต์ และเมื่อเครื่องยนต์มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการใช้งานน้ำมันเครื่องที่ไม่มีคุณสมบัติในการปกป้องใด ๆ เหลืออยู่เลย ก็จะไม่มีคุณสมบัติการหล่อลื่น และไม่มีคุณสมบัติในการปกป้องชิ้นส่วนจากการขัดสี ทำให้เหล็กกับเหล็กเมื่อเกิดการขัดสีกัน ทำให้เกิดความร้อน และเมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นและน้ำมันเครื่องไม่มีคุณสมบัติที่ดีในการหล่อลื่น หรือระบายความร้อนเลย ก็จะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหากับจุดที่มีความจำเป็นต้องมีการหล่อลื่น ลดการขัดสี และต้องการ การระบายความร้อนมากที่สุด เช่น จุดที่เป็น แบริ่งหรือ(ชาร์ป)จนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น เกิดปัญหาแบริ่งหรือ(ชาร์ป) ละลาย ตามมา